ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ ได้จัดกิจกรรม Data hackathon for EE ขึ้นในวันที่ 28-29 มกราคม 2566 เพื่อปรับพื้นความเข้าใจและฝึกทักษะเกี่ยวกับข้อมูลสมัยใหม่ให้กับนักศึกษาในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การอบรมการจัดการข้อมูลด้วยภาษา Python และการนำเสนอไอเดียของข้อมูลในรูปแบบ pitching เนื้อหาของการอบรมเน้นที่เครื่องมือและเทคนิคของภาษา Python ได้แก่ Pandas, matplotlib และ scikit-learn เพื่อนำเข้า ทำความสะอาด ประมวลผล และนำเสนอข้อมูล การอบรมได้เลือกใช้ชุดข้อมูลลักษณะการใช้ไฟฟ้า (load profile) จากศูนย์ปฏิบัติการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงการประยุกต์เทคนิคข้อมูลสมัยใหม่เข้ากับพื้นความรู้ทางวิศวกรรมไฟฟ้า
หลังจากการอบรมเป็นกิจกรรม pitching ซึ่งทีมนักศึกษาได้ระดมสมอง ใช้เทคนิคที่ได้เรียนรู้ และนำเสนอแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้กับกรรมการจากภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 8 ผลงาน ได้แก่
- การใช้ไฟฟ้าบ่งบอกถึงสถานที่นิยมท่องเที่ยวช่วงวันหยุดของคนไทย
- Get Rich with Charger
- โควิดส่งผลกระทบต่อภาพรวมการใช้ไฟฟ้าอย่างไร
- ประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า
- Solar Cell กับไฟฟ้าภาคครัวเรือน
- ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเดินทางไปเที่ยวช่วงสงกรานต์
- การใช้ไฟฟ้าของกิจการขนาดใหญ่ในเขต กฟก.3
- Effect of PV Cell in Large Business
คณะกรรมการจากภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ คุณอกณิฐ กวางแก้ว กองนวัตกรรม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คุณศรัณญู สอนกำเนิด ฝ่ายบริหารสำนักงาน บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ และคุณทศพร เวชศิริ CEO บริษัทโลจิเซ้นส์ ได้รับฟังและให้ข้อแนะนำกับนักศึกษาในการปรับปรุง จากนั้นได้คัดเลือกผลงาน 3 ชิ้นที่มีจุดโดดเด่นได้แก่
- ผลงาน “ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเดินทางไปเที่ยวช่วงสงกรานต์” ซึ่งมีจุดเด่นที่การนำข้อมูลจากโครงการ Mobility Data ของ DTAC เพื่อประมาณจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางในช่วงสงกรานต์ โดยมีสมมุติฐานว่าจะมีสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มถึงร้อยละ 30 ตามนโยบาย 30@30 จากนั้นจึงแสดงการคำนวณเป็นสถานการณ์ว่าเกิดการอัดประจุจะส่งผลกระทบการใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน.1 และ กฟน.2 อย่างไร
- ผลงาน “Effect of PV Cell in Large Business” ซึ่งใช้การเขียนโค้ด Python เพื่อจำลองสถานการณ์เมื่อมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยขนาดพื้นที่ต่างๆกัน จากนั้นจึงคำนวณเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าที่จะลดลงได้ในกรณีของอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่
- ผลงาน “Get Rich with Charger” ซึ่งพิจารณาประเด็นของความคุ้มค่าในการลงทุนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามเวลา (Time-of-Use Tariff) พบว่าอัตราของผลตอบแทนไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเชิงเส้นกับเงินลงทุน โดยการลงทุนเมื่อสูงเกินกว่าจำนวนหนึ่งจะมีผลตอบแทนในแต่ละวันที่เป็นสัดส่วนมากกว่า
- 28 มกราคม 2566
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์